Tuesday, November 6, 2012

การฝึกซ้อมมวยไทยสมัยโบราณ

การฝึกซ้อมมวยไทยสมัยโบราณ


 การฝึกซ้อมมวยไทยสมัยโบราณ
การฝึกซ้อมมวยไทยในสมัยโบราณแม้จะไม่มีอุปกรณ์สำหรับฝึกซ้อมมวยไทยโดยเฉพาะ ดังเช่น ในปัจจุบัน แต่พื้นฐานการออกกำลังกายของนักมวยในแต่ละวันจะแฝงอยู่กับการเคลื่อนไหว เพื่อใช้แรงกายในการประกอบอาชีพ ซึ่งเป็นวิถีชาวบ้าน เช่น การหาบน้ำ กระเดียดน้ำ ผ่าฟืน ทำไร่ไถนา ตำข้าว วิ่งเล่นตามทุ่งนา ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้ได้ออกกำลังกายทุกวันร่างกายจึงแข็งแรงสม่ำเสมอ ส่วนอุปกรณ์ที่นำมาใช้ฝึกหัดมวยไทย จะเป็นของพื้นบ้านพื้นเมืองที่หาได้ง่ายและมีอยู่ทั่วไปในชนบท เช่น ต้นกล้วย ต้นมะพร้าว ผลมะนาว เป็นต้น
ฤาษีดัดตน 13 ท่าบท สำหรับการสร้างประสิทธิภาพพลวัตแห่งอำนาจไสยศาสตร์ในศิลปะมวยไทย 
                บันทึกของครูมวยไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ได้มีการนำท่า 13 ใน 80 ท่าบทของฤาษีดัดตนที่บรรจุไว้ในจารึกวัดโพธิ์ (วัดเชตุพน  กรุงเทพฯ) มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพของจิตสรีระที่จะใช้สำหรับการฝึกฝนศิลปะ มวยไทยโบราณ  จนเป็นตำนานเล่าสืบๆกันมาในอีกหลายๆครูมวยไทยในรุ่นถัดมา เท่าที่สามารถรวบรวมได้จำนวน 13 ท่าแม่บท มีดังนี้
                1. ยืดกายแบกฟ้า  มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้เกียจกาย
                2. วันทาขาเดียว มาจากแม่บทฤาษี ดัดตนแก้เข่า
                3. เหนี่ยวเท้าค้ำเข่า  มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้ลมจันทรฆาฏ ลมเข่า ลมขา ลมหน้าอก
                4. มือท้าวดันขา มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้ตะคริว มือเท้า
                5. กดกายาค้ำดิน มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้สะโพก สลักเพชร
                6. เหยียบธรณินผลักโลก มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้ไหล่ขัด สะโพกขัด
                7. โยกเข่ายื้อมา มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้ลมส้นเท้า
                8. ก้าวท่ายักษ์กุมภัณฑ์ มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้ไหล่ แก้ขา
                9. เหนี่ยวกัณฐาดันเข่า  มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้สลักไหล่
                10. ศอกท้าวถ่างพับแข้ง  มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้ลมในขา
                11. สำแดงท่ากบลีลา มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้เข่า ขาตาย
                12. โอบหัตถารับเท้า มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้เท้าเหน็บ
                13. สลับเข่ายื้อศอก  มาจากท่าแม่บทฤาษี ดัดตนแก้ขัดแขน

การไหว้ครู

การไหว้ครู


เป็นประเพณีของชาวไทย ซึ่งสำแดงถึงความกตัญญูรู้คุณ ในการแสดงศิลปะ วิชาการแขนงต่าง ๆ แทบทุกแขนง เช่น โขน ละคร ฯลฯ ก็มักจะถือเอาครู เป็นมิ่งขวัญสำคัญ ต้องกราบไหว้ก่อน และ ด้วยประเพณีนี้ ทำให้มวยซึ่งเป็นศิลปะวิชาการ ประเภทหนึ่ง ก็มีวิธี ไหว้ครูก่อนทำการชก

การไหว้ครู
บางท่านว่า ประเพณีเกิดจากสมัยเก่าก่อน การชกมวยมักจะมีต่อหน้าพระที่นั่งพระมหากษัตริย์ผู้เป็นประมุข มักเสด็จ ทอดพระเนตร ฉะนั้นนักมวยที่จะเข้าทำการต่อสู้กัน จึงต้องทำการถวายบังคมด้วยท่าทางของมวย มีฟ้อนรำตามประ เพณี เป็นการขอรับ พระราชทานอภัยในสิ่งที่ตนอาจพลาดพลั้งในกิริยาท่าทาง ฯลฯ


การไหว้ครู มีท่ารำอยู่หลายท่า ตามแต่ครูฝึกสอนจะนิยมนำมาให้ศิษย์ใช้ เช่น รำเทพพนม พรหมสี่หน้า นารายณ์น้าวศร ฯลฯ การรำดังกล่าวนี้ เมื่อได้กราบ ๓ รา ด้วยท่ามวยแล้ว จึงรำด้วยท่าใดท่าหนึ่งดังกล่าวข้างต้น ในที่นี้จะได้นำมากล่าว เฉพาะ พรหมสี่หน้า ซึ่งนิยมกันมาก

พรหมสี่หน้า

เริ่มด้วยการนั่งคุกเข่า ๒ ข้างลงกับพื้น ทำมุมกาง ๙๐ องศา นั่งทับส้นเท้า

จังหวะ ๑
ยกมือพนมระหว่างคิ้ว แล้วเลื่อนลดลงมาหยุดเสมออก

จังหวะ ๒
แยกมือที่พนมออกจากกัน เหยียดตรงไปข้าง ๆ ตัว แล้วโน้มตัวไปข้างหน้า วกมือทั้ง ๒ ไปบรรจบกันข้างหน้า คว่ำแตะพื้น ศีรษะก้มลงในท่ากราบ แล้วผงกศีรษะทรงตัวตรงตามเดิม
จังหวะ ๑ - ๒ นี้เป็นท่ากราบ เมื่อทรงตัวตรง มือทั้ง ๒ กลับขึ้นพนมเหนือคิ้ว และลดพักเพียงอกอีก ทำท่ากราบนี้ให้ครบ ๓ ครั้ง เมื่อกราบครั้งที่ ๓ แล้ว

จังหวะ ๓
เหยียดเท้าขวาออก เป็นท่าชันเข่ายืน แขนขวาออกแรงแตะเข่าขวา
จังหวะนี้เป็นท่าเตรียมยืน แต่เพื่อความสง่างามจึงมีจังหวะเคลื่อนไหวให้แนบเนียนขึ้น เมื่อใช้มือขวาแตะเข่าขวา ยืนตรงขึ้น พร้อมด้วยหมัดซ้ายยกขึ้นระดับเสมออก ประชิดเท้าซ้ายขึ้นเสมอเท้าขวา เป็นท่ายืนหันหน้าไปทางคู่ต่อสู้

จังหวะ ๔
ยกเท้าขวางอเข่าขึ้นข้างหน้าเป็นมุม ๙๐ องศา ๒ หมัดยกควงเสมอหน้ารอบหนึ่ง แล้วเหยียดหมัดยกขึ้นควงเสมอขวา ไปแตะขาขวา (ที่ยกอยู่) ลดเท้าขวาลงพื้น หมัดทั้งสองอยู่ในท่าคุม (การ์ด) สืบเท้าขวาและซ้ายตามไปสามจังหวะ จังหวะสั้น ๆ แล้วหยุด หยุดการสืบเท้าแล้ว เบี่ยงซ้ายชันเข่าซ้าย เป็นมุม ๙๐ องศา หมัดทั้ง ๒ ยกควงเสมอหน้า แล้วเหยียดแขนซ้าย แตะหมัดไปที่ขาซ้าย (ที่ยกอยู่) ลดเท้าซ้ายยันพื้นสืบเท้า ๓ จังหวะ สู่จุดเดิม ทำดังนี้จากด้านหน้า (ดังได้อธิบายแล้ว) กลับหลังแล้วยกเท้าขวาขึ้น เริ่มต้น จังหวะ ๔ อีกครั้ง เบี่ยงตัวไปทางขวา ปฏิบัติทุกอย่างเช่นเดียวกัน หากเป็นเพียง สืบเท้าไปทางด้านขวา จากด้านขวาแล้วเปลี่ยน เป็นซ้ายและหลังเป็นที่สุด ซึ่งสรุปการรำนี้ เป็นการก้าวฉาก แล้วเฉียง ไปทั้งสี่ทิศ จึงให้ชื่อว่าพรหมสี่หน้า


เทพนม
การคุกเข่าลงพับเพียบแบบนั่งทับส้นเท้าทั้งสอง ยกมือประนมระหว่างอก สลัดความนึกคิดต่างๆให้ออกไปจากอารมณ์ทั้งหมด และหากมีอารมณ์ใหม่เกิดขึ้น ก็ต้องให้เป็นความรู้สึกที่นิ่งและแน่วแน่มีสภาพคล้ายจุดกลม(พินธุ) ก้มลงกราบให้ฝ่ามือทั้งสองทาบพื้น แล้วยกกลับมาประนมอยู่ระหว่างอกดังเก่า จากนั้นเลื่อนขึ้นไปให้นิ้วหัวแม่มือที่อยู่ในท่าประนมนั้นแตะที่หน้าผาก หงายหน้าขึ้นเล็กน้อย แล้วเลื่อนลงกลับมาที่ระดับอก ก้มลงกราบอีก ท่านอบน้อมนี้กระทำ 3 หนด้วยกัน


ปฐม
การชักเท้าขวาไปด้านข้างแล้วตั้งเข่าขึ้น มือเปลี่ยนจากท่าประนมเป็นกำหมัดหลวมๆ โดยให้แขนขวาอยู่เหนือวงแขนซ้าย และพร้อมที่จะเหยียดวาดออกไปเป็นวงกลมทั้งสองข้าง

พรหม
วาดมือทั้งสองข้างโดยค่อยๆเหยียด(บิด) ออกไปด้านข้างหมุนให้เป็นวงสุดแขน อกตั้ง หลังตรง หน้าเชิด เมื่อเหยียดแขนวาดเป็นวงครบรอบ ก็ควงหมัดหมุนรอบกันและกันอยู่ที่ระดับหน้าอก 3 รอบ การเหยียดแขนวาดวงนี้จะกระทำ 3 ครั้ง จากนั้นกลับหลังเปลี่ยนทิศ โดยคุกเข่าขวาตั้งเข่าซ้าย (ท่าเหยียดแขนวาดวงแบบเดิม) เมื่อกระทำด้านหน้าและด้านหลังแล้ว ก็หันไปด้านข้าง โดยเริ่มจากทางด้านขวาก่อน การคุกเข่า-ตั้งเข่าก็กระทำแบบเดียวกับด้านหน้าและด้านหลังเมื่อครบก็จะได้ เป็น 4 ทิศ จึงเรียกท่านี้อีกอย่างหนึ่งว่า "ท่าพรหม 4 หน้า"

การควงหมัดของ"ท่าพรหม"  กับร่างยันต์ชื่อ"นะพรหม 4 หน้า"
ตามหลักอาถรรพณ์ศาสตร์ พรหม 4 หน้า คือวิชาสะกดจิตอำพรางตาในระดับหนึ่ง โดยการอำพรางตานั้น ได้แก่การสะกดจิตไม่ให้เห็นอะไรเลย หรือว่าเห็นภาพหลอน (มายา) ไปต่างๆ วิชาเหล่านี้ในพุทธตันตระแยยสยามจัดเป็นหมวยใหญ่อยู่ในวิชา "แคล้วคลาด" ท่าพรหมในการร่ายรำไหว้ครูของมวยไทย หากจะกล่าวตามมิติของตำนานแล้วฃ ก็คือการแพ่งกระแสจิตลงยันต์สำกดไว้บนพื้นเวทีของการแข่งขัน เป็นการเปิดศึกทางอาถรรพณศาสตร์ หรือสงครามจิตวิทยา กับคู่ต่อสู้นั่นเอง อย่างไรก็ตามตำนานก็คือตำนานเท่านั้น




เทพนิมิต
เป็นท่าที่ต่อจากที่พรหม ประนมมือลุกขึ้นยืนตรง เรียกว่า "เทพนิมิต"

มยุเรศ
หมัดซ้ายขวาเปลี่ยนจากการพนมมาควงหมันรอบกัน 3 รอบ พร้อมกับตั้งเท้ายกเข่าขวาวาดบิดเป็นวงมาทางขวามือ ลดหมัดขวาลงแตะโคนขาขวา ยกหมัดซ้ายหงายแตะโหนกคิ้วซ้าย จากนั้นย่ำเท้าขวาลงไปหนึ่งก้าวในทิศที่หันหน้าไปนั้น (ขวามือคือท่าเทพนิมิตเดิม) ขยับเท้าขวาไปเบื้องหน้าครึ่งก้าว แล้วขยับเท้าซ้ายตามครึ่งก้าว รวม 3 ครั้ง แล้วทิ้งนำหนักลงเท้าขวา ลดหมัดซ้ายลง พร้อมกับเหยียดแขนทั้งสองค่อยๆบิดหมุนเป็นวงไปด้านหลัง พลางยกเท้าซ้ายพับขึ้นไปด้านหลัง แขนทั้งสองวาดเป็นวงย้อนกลับมาด้านหน้าตามด้วยการควงหมัดซ้ายขวาหมุนรอบกัน อีก 3 รอบ

(นารายณ์) ขว้างจักร
เป็นท่าที่ต่อจากยูงฝ้อนหาง เมื่อควงหมัดขวาครบ 3 รอบแล้ว ก็ค่อยๆบิดไหล่หันลำตัวมาทางขวาช้าๆ หงายหมัดขวาแล้วเหยียดสูงออกไปด้านหน้า พร้อมกับจังหวะที่บิดไหล่หันลำตัวนั้น ส่วนหมัดซ้ายก็ลดจากอกลงไปแตะไว้ที่โคนขาซ้าย

กวางเกลียวหลัง
ต่อจากท่านารายณ์ขว้างจักร บิดไหล่หันลำตัวมาทางขวาอีกครั้ง เป็นการหันกลับหลังพอดี ค่อยๆ ลดเท้าซ้ายที่ยกพัยไปข้างหลังไว้อยู่ลง และเหยียดตรงไปข้างหลัง พร้อมกับหน้าเบือนหันตามไปด้วย แล้วดึงเท้าซ้ายมาเสมอกับเท้าขวา เป็นการยืนตรง หันหน้าไปทางซ้ายตามเดิม เริ่มต้นด้วยท่าเทพนิมิตใหม่อีกครั้ง ซึ่งในทิศนี้เป็นทิศตรงข้ามกับทิศที่ร่ายรำครั้งแรก เมื่อร่ายรำในทิศที่สองนี้ ก่อนย่ำเท้าเขยิบไปข้างหน้า เท้าที่ยกขึ้นตั้งเข่าสำหรับทิศนี้ก็เป็นข้างขวา สำหรับอีก 2 ทิศ ซึ่งขวางติดกับทิศทั้งสองข้างต้น ลำดัยท่าร่ายรำก็จะซ้ำกับสองทิศแรก เมื่อรำร่ายยูงฟ้อนหาง นารายณ์ขว้างจักร และพยัคฆ์ด้อมกวาง(หรือ หวางเหลียวหลัง) ครบทั้ง 4 ทิศแล้ว ก็จะกลับคืนสู่ท่าเทพนิมิตอีกครั้ง






มารยาทมวยไทย

๑. เคารพเชื่อฟังครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด
๒. มีความขยันหมั่นเพียร
๓. พร่ำบ่นมนต์คาถาต่าง ๆ ที่ครูประสาทให้
๔. ไม่ดูถูกฝีมือนักมวยรุ่นพี่
๕. เคารพในเครื่องรางของขลัง
๖. ไม่นำเอาวิชามวยไปรังแกผู้อื่น นอกจากป้องกันตัวเท่านั้น
๗. ไม่โอ้อวดความสามารถ
๘. หลีกเลี่ยงของมึนเมาต่าง ๆ
๙. เข้าร่วมในพิธีการยกครูทุกครั้ง
๑๐. ให้ความเคารพในครูมวยคณะอื่น ๆ ด้วย

ร่ายรำท่าไหว้ครู

ร่ายรำท่าไหว้ครู

ท่าไหว้ครู มวยลพบุรี




การร่ายรำท่าหงษ์เหิร 
หลังจากการไหว้ครูในท่านั่งตามลำดับจนกระทั่วลุกขึ้นยืนในท่าเทพนิมิตร และหมุนไปทางขวา

จังหวะที่ ๑    ยกเท้าขวาเหยียดไปด้านหลัง โดยยืนทรงตัวด้วยเท้าซ้าย โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยร่ายรำโดยกางแขนทั้งสองออกด้านข้างสุดแขน ยอเข่าลงพร้อมกับคว่ำฝ่ามือทั้งสอง

จังหวะที่ ๒    ยืดเข่าให้ตรงพร้อมกับงอข้อมือขึ้นให้ปลายนิ้วเชิดขึ้น

จังหวะที่ ๓    ลดเท้าขวาลงยืนกับพื้น แล้วเปลี่ยนเป็นเหยียดเท้าซ้ายไปข้างหลังร่ายรำเช่นเดียวกันลักษณะคล้ายนก กำลังบิน การเคลื่อนตัว แขน และฝ่ามือให้สัมพันธ์กันและเข้ากับจังหวะดนตรี

 จังหวะที่ ๔    ลดเท้าซ้ายลงยืนตรงย่างสามขุมเพื่อเปลี่ยนทิศทาง โดยหมุนตัวกลับหลังหันมาทางทิศเบื้องซ้ายแล้ว ให้ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ๑ ก้าว โน้มตัวลงไหว้ พระพรหมทิศ เบื้องซ้าย ๑ ครั้ง แล้วร่ายรำท่าหงษ์เหิรตามจังหวะที่ ๑-๓ พอถึงจังหวะที่๔ ให้เปลี่ยนไปทางทิศเบื้องหลัง ไหว้พรหมแล้วร่ายรำ พอถึงจังหวะที่ ๔ ให้เปลี่ยนไปทิศเบื้องหน้า (ซึ่งเป็นทิศเมื่อนั่งพนมมือ "ท่าเทพพนม" ) แล้วไหว้พรหม ร่ายรำท่าหงษ์เหิรเท่ากับร่ายรำ ครบสี่ทิศ (พรหมสี่หน้า) ย่างสามขุมแล้วโค้งให้คู่ต่อสู้ ๑ ครั้งเป็นการจบการไหว้ครูและร่ายรำท่าหงษ์เหิร.

หงษ์เหิร

การร่ายรำท่ายูงฟ้อนหาง 
ก่อนการร่ายรำท่ายูงฟ้อนหางก็ตามจะ เริ่มต้นจากการไหว้ ครูตั้งแต่ท่านั่ง เทพพนมตามลำดับ จนถึงท่ายืนเทพนิมิตรแล้ว

จังหวะที่๑    หมุนตัวไปทางทิศเบื้องขวาไหว้พระพรหม
ทิศเบื้องขวา ๑ ครั้ง

จังหวะที่๒   ก้าวเท้าซ้าย ไปข้างหน้า ๑
ก้าว ยกขาขวาเหยียดไปทาด้านหลัง พรัอม โน้มตัวลงมาทางด้านหน้า มือทั้งสองพนมอยู่ระดับอก

จังหวะที่ ๓   บิดฝ่ามือหันหลังมือเข้าหากันแล้วค่อยๆ
เคลื่อนแขนทั้งสอง ลอดผ่านใต้รักแร้ ไปทางด้านหลัง จนแขนเหยียดตรงปลายนิ้วมือจดกัน

จังหวะที่๔   เคลื่อนมือทั้งสองออกไปด้านข้างลักษณะ กางแขนแล้วโค้งเข้าหากันที่หน้าพร้อม
กับยืดอกเงยหน้าขึ้นขณะที่มือทั้งสองยก จดกันที่เหนือศีรษะขาขวา ยังคงเหยียด ไปทางด้านหลังเช่นเดิม

จังหวะที่๕   ลดขาขวาลงยืนตรง ยกเท้าซัายเหยียดไปทางด้านหลัง ยืนทรงตัวด้วยเทัาขวา แส้วปฎิบัติ เช่นเดียวกับจังหวะที่ ๑ -๔ (เป็นการทำสลับข้างจากขวาเป็นซ้าย) หลังจากนั้นให้เปลี่ยนทิศร่ายรำให้ครบ สี่ทิศ แล้วกลับเข้ามุมด้วยการก้าวย่าง และโค้งคำนับคู่ต่อสู้ เป็นจบกระบวนท่า .

ยูงฟ้อนหาง

การร่ายรำท่ายูงรำแพน 
ก่อนการร่ายรำท่ายูงรำแพน ให้เริมต้นการไหว้ครูตังแต่ท่านั่งเทพพนม ตามลำดับเช่นเดียว ท่าอื่นๆ จนลุกขึ้นยืนท่าเทพนิมิตร

จังหวะที่๑     หมุนตัวไปทิศเบื้องขวาไหวัพระพรหม ๑ ครั้ง

จังหวะที่๒    ก้าวเท้าซ้ายใปขัางหน้าก้าว ยกขาขวาเหยียดไปทางด้านหลัง  พร้อมกับโน้มตัวลงมาทางด้านหน้า มือทั้งสองพนม อยู่ระดับอก

จังหวะที่ ๓    บิดฝ่ามือหันหลังมือเข้าหากันแล้วค่อยๆเคลื่อนแขนทั้งสองลอดผ่าน ใต้รักแร้ไปทางด้านหลัง จนแขนเหยียดตรง หน้าเงยมองดรงไปด้านหน้า

จังหวะที่ ๔   เคลื่อนมือทั้งสองออกไปด้านข้างลักษณะ กางแขนแลัวโคังเข้าหา กันด้านหน้าควงแขน ๓ รอบ

จังหวะที่ ๕   เคลื่อนขาขวามาตั้งฉากด้านหน้าหมุนเฉียง ขวาเท้าขวาสูงพื้นห่าง ๑ ก้าว

จังหวะที่ ๖   ยกเท้าซ้ายเหยียดไปทางด้านหลัง ยืนทรงตัวด้วยเท้าขวา แล้วปฏิบัติ เดียวกับจังหวะที่ ๑ - ๔ หลังจากนั้นไห้เปลี่ยนทิศร่ายรำให้ครบ สี่ทิศ แล้วกลับเขามุมด้วยการก้าวย่าง และโค้ง นับคู่ต่อสู้ เป็นจบกระบวนท่า.
 



ยูงรำแพน


การร่ายรำสอดสร้อยมาลา 
ก่อนการร่ายรำท่าสอดสร้อยมาลาให้เริ่มต้นการไหวัครูตังแต่ท่านั่งเทพพนม จนลุกขึ้นยืนท่าเทพนิมิตร

จังหวะที่ ๑    หมุนตัวไปทิศเบื้องขวาไหว้พระพรหมทิศเบื้องขวา ๑ ครั้ง

จังหวะที่ ๒    ก้าวเท้าซ้ายใปขัางหน้า ๑ ก้าว ยกขาขวาไปทางด้านหลังที่งอขนานกับพื้นยกสูงระดับปลายคาง แขนซ้ายงอตั้งฉากกับพื้นปลายหมัตตั้งขึ้น

จังหวะที่ ๓    สอดหมัดซ้ายขึ้นด้านในแขนขวา ใหัเลยขึ้นไปขัางบนจนศอกแขนขวาที่วางขนานระดับปลายคาง

จังหวะที่ ๔    เปลี่ยนจากแขนขวาวางขนานกับพื้นมาเป็นแขนซ้ายรำสอด แขน

จังหวะที่ ๕    เปลี่ยนจากการยืนด้วยเท้าซ้าย มาเป็นยืนทรงตัวด้วยเท้าขวา เช่นเดียวกับจังหวะที่ ๒ - ๔

จังหวะที่ ๖    ให้เปลี่ยนทิศไปร่ายรำในทิศต่างๆ ให้ครบสี่ทิศ แล้วกลับเข้า ก้าวย่าง และโค้งคำนับให้คู่ต่อสู้ เป็นจบกระบวนท่า.
 
สอดสร้อยมาลา

การร่ายรำท่าพระรามแผลงศร 
เป็นการร่ายรำที่สวยงามท่าหนึ่งที่เป็นท่ายืน ก่อนการร่ายรำท่าพระรามแผลงศร ใหัเริ่มต้นการไหว้ครู ตั้งแต่ท่านั่งเทพพนม ตามลำดับจนถึงท่าเทพนิมิตร ท่าพระรามแผลงศรมักจะ นิยมร่ายรำเพียงทิศเดียว คือหันหน้าไปทางทิศของคู่ต่อสู้

จังหวะที่ ๑    หมุนตัวไปทิศเบื้องขวาไหว้พระพรหมทิศ เบี้องขวา ๑ ครั้ง

จังหวะที่ ๒   ก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า ๑ ก้าว พร้อม กับชูแขนทั้งสองข้างในลักษณะคล้ายจับคันศร ด้วยมือซ้าย

จังหวะที่ ๓   มือขวาเอื้อมมาด้านหลังทำท่าลักษณะ หยิบลูกศรบริเวณต้นคอ มาพาดคันศร แล้วน้าวสาย ศรมาด้านหลัง ๒ - ๓ ครั้ง ทำท่าน้าวศรครั้งที่ไม่ ปล่อยศร ค่อยๆ เลื่อนมือขวา ตามมแรงดึงของคัน ศรน้าวศรครั้งที่ ๒ ก็ไม่ปล่อยศร พอน้าวศรครั้งที่๓  ทำลักษณะยกคันศรสูง ระดับหูตัวยืนนิ่งสายตามอง เล็งไปที่เป้าหมายแล้วปล่อยศรโดยบิดมือขวาขึ้น

จังหวะที่๔    เมื่อปล่อยลูกศรออกไปแล้วเท้าขวา ลงพื้น แล้วยกขาซ้ายงอขึ้นด้านหน้า พรัอมกับ ทำท่ายกมีอเหนือหน้าผาก ตามองตามลูกศรไปคล้าย
กับดูว่าลูกศรจะถูกที่หมายหรือ ไม่หากไม่ถูกให้ส่าย หน้าถ้าถูกให้ผงกศีรษะ สีหน้าแสดงความยินดี

จังหวะที่๕   ให้เสกคาถา เช่น นะจังงัง ๓ จบ และใชัเท้ากระทืบพื้น ๓ ครั้ง

จังหวะที่๖    ย่างสามขุมเข้ามุมของตนแล้วโค้งคำนับให้คู่ต่อสู้  ๑ ครั้ง เป็นจบกระบวนท่า.


พระรามแผลงศร

การร่ายรำท่าพยัคฆ์ด้อมกวาง 
ก่อนการร่ายรำท่าพยัคฆ์ด้อมกวาง ให้เริ่มต้นการใหว้ครูตั้งแต่ท่านั่งเทพพนมตามลำ เช่นเดียวกับท่าอื่นๆ จนถึงลุกขื้นยืนท่าเทพนิมิตร

จังหวะที่ ๑    หมุนตัวไปทิศเบื้องขวาไหว้พระพรหมทิศเบื้องขวา ๑ ครั้ง

จังหวะที่ ๒    จากการก้าวย่างขณะที่เท้าซ้ายนำ  ให้โน้มตัวไปด้านหนัาเล็กน้อยมือซ้าย กำหมัดตั้งศอกขึ้นบังทางด้านหน้า พร้อมกับหันหน้ากลับมามองทางด้านหลัง คือมองคู่ต่อสู้ แขนขวาและเท้าขวาอยู่ด้านหลัง พยักหน้าให้คู่ต่อสู้๑ ครั้งหรือ ๒ ครั้ง

จังหวะที่ ๓    เปลี่ยนมาเป็นการก้าวโดยใช้เท้าขวานำ และทำเช่นเดียวกับจังหวะที่ ๒

จังหวะที่ ๔    ให้เปลี่ยนทิศใปร่ายรำในทิศต่างๆ ให้ครบสี่ทิศ แล้วกลับเข้ามุมด้วยก้าวย่างและโค้งคำนับให้คู่ต่อสู้ เป็นจบกระบวนท่า การร่ายรำท่าพยัคฆ์ด้อมกวางนี้ จะมีลีลาท่าทางการร่ายรำคล้ายกับท่ากวางเหลียวหลัง.
พยัคฆ์ด้อมกวาง


การร่ายรำท่าเสือลากหาง 
 การร่ายรำท่าเสือลากหางมีทั้งท่านั่งและท่ายืน ให้เริ่มต้นการไหว้ครูตั้งแต่ท่านั่งเทพพนม ถวายบังคม ท่าปฐมและท่าพรหมตามลำดับเช่นเดียวกับท่าอื่นๆท่านั่ง 
ท่านั่ง 
จังหวะที่ ๑  ขณะนั่งอยู่ในท่าพรหม  คือเท้าซ้ายตั้งฉากกับพื้น เท้าขวาเหยียดตรงใป ด้านหลัง ปลายนิ้วเท้าจรดพื้นโน้มตัวไปด้านหน้าให้มากมือทั้งสอง ควงหมัด แล้วงอแขนตั้งฉาก ชูปลายทือขึ้นขยับแขนขึ้นลงสลับซ้ายขวาตลอดเวลา แล้วเคลื่อนแขนกางออกด้านข้างขยับขึ้นลง ไม่มากใบหน้าส่ายไปมา พร้อมกับขยับตัวขึ้นลง ให้สัมพันธ์กัน โดยน้ำหนักตัวอยู่ที่เท้าซัายและ ปลายเท้าขวายันพื้นช่วย ในการทรงตัวและการขยับตัวตามจังหวะดนตรี
จังหวะที่ ๒ ถอยตัวกลับไปนั่งบนส้นเท้าซัาย เท้าขวาเหยียดอยู่ดัานหน้ามือทั้งสอง ขยับขี้นลงเช่นเดียวกับจังหวะที่ ๑ อาจจะเปลี่ยนสลับเท้าขวาเป็นซ้ายก็ได้. 
ท่ายืน 
จากท่านั่งของเสือลากหางอาจใช้เท้าข้างใดข้างหนื่งเป็นหลักทรงตัวลุกขึ้นยืน 
 
จังหวะที่ ๑  ยืนทรงตัวด้วยเท้าขวาเท้าซ้ายยกงอไปทางด้านหลัง  ปลายเท้าเชิดพร้อมกับ โน้มตัวมาทางด้านหน้า  แขนทั้งสองข้างตั้งฉากยกปลายมือขึ้นขยับขื้นลงเช่นเดียวกับท่านั่ง คือ ขยับพร้อมกันทั้งแขน ลำตัว และปลายเท้าใบหน้าส่ายไปมาคล้ายหลอกล่อคู่ต่อสู้.

มวยไชยา

มวยไชยา




มวยไชยา เป็นศิลปะการต่อสู้ของไทยที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องบ้าน เมืองมาตั้งแต่โบราณกาล มวยไชยามีที่มาจาก พ่อท่านมา แห่งวัดทุ่งจับช้าง ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎ์ธานี ซึ่งแต่เดิมก่อนพ่อท่านมาจะเข้าอุปสมบทนั้น ท่านเป็นทหารอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้นมวยไชยาที่แท้จริงแล้วน่าจะเป็นมวยที่มีที่มาอันยาวไกลยากที่จะสืบ สาวได้

          เหตุที่มวยของ พ่อท่านมา มีชื่อเรียกติดปากว่า “มวยไชยา” นั้นสืบเนื่องจากที่ท่านได้เบื่อชีวิตการเป็นทหารและเบื่อต่อฆราวาสสมบัติ ท่านจึงได้ออกบวชแล้วได้เดินธุดงค์เรื่อยไป จนได้ไปอยู่ที่วัดทุ่งจับช้าง ซึ่งในขณะนั้นเองท่านได้เมตตาถ่ายทอดศิลปะการต่อสู้ของไทยให้กับประชาชนที่ นั่น หนึ่งในลูกศิษย์ของท่าน ก็คือ ท่านพระยาวจีสัตยารักษ์ (ขำ ศรียาภัย) ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไชยา ณ กาลนั้นเอง มวยไทยสายพ่อท่านมาจึงถูกเรียกขานจนติดปากว่า “มวยไชยา”

พ่อท่านมา (หลวงพ่อมา เจ้าอาวาสวัดทุ่งจับช้าง เมืองไชยา)
พระยาวจีสัตยารักษ์ (เจ้าเมืองไชยา)

อาจารย์ กิมเส็ง (สุนทร ทวีสิทธิ์)

ปรมาจารย์ เขตร ศรียาภัย
ครูทอง เชื้อไชยา (ทองหล่อ ยาและ)
 อาจารย์อมรกฤต ประมวญ หรือ ครูแปรง

 ท่านพระยาวจีสัตยารักษ์ 

       ซึ่งเป็นเจ้าเมืองไชยา ท่านก็ได้ถ่ายทอดวิชานี้ให้แก่ลูกๆ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือ นายเขตร ศรียาภัย และหลังจากที่นายเขตร ศรียาภัย ได้ร่ำเรียนจากบิดาคือท่านเจ้าเมืองแล้ว นายเขตร ศรียาภัย ยังได้ร่ำเรียนจากครูมวยอื่นๆอีกรวมแล้วถึง 12 ครู ซึ่งในกาลต่อมาท่านได้ถูกขนานนามว่า “ปรมาจารย์” ซึ่งมวยไชยาตำรับของพ่อท่านมาที่สืบทอดมายังท่านปรมาจารย์เขตร ศรียาภัยนั้น ได้ถูกเกลา ถูกวิคราะห์ ต่อเติมให้เข้ากับยุคสมัยและสามารถใช้ได้ในเหตุการณ์จริง


คชสารควานงวง เป็นกลแก้เตะ โดยการรอจังหวะที่ปรปักษ์เตะเข้าหมายก้านคอหรือชายโครงซ้าย แล้วพุ่งเข้าพิงแข้งในพร้อมคว้าข้อเท้ากระชากให้ล้ม


มวยไชยา 

       ตั้งแต่ครั้งอดีตจะสอนตั้งแต่การป้องกันตัว และจะเป็นการป้องกันตัวแบบ 4 ป.คือ

                                                             ป้อง ปัด ปิด เปิด

   เป็นท่าสำคัญ ท่า 4 ป.ของไชยานั้นจะป้องกันตัวได้ตั้งแต่หัวแม่เท้ายันเส้นผม เมื่อผู้ได้ฝึก 4 ป.จนมีความชำนาญแล้ว จะสามารถเข้าใจและจะรู้ตัวเองว่า ได้ยืนอยู่หน้าประตูของการใช้ลูกไม้ต่างๆ แล้ว
 ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า มวยไชยาเป็นมวยที่ให้ความสำคัญกับการป้องกันตัว ดังนั้นมวยไชยาจึงเป็นหนึ่งในสายมวยที่ถูกเลือกให้เป็น กรมทนายเลือก คอยดูแลอารักขาความปลอดภัยพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ และยังเป็นหนึ่งในสายมวยที่ได้รับฉายา “หมื่นมวยมีชื่อ” เมื่อครั้งที่ นายปล่อง จำนงทอง ใช้ ท่าเสือลากหาง  อันเป็นท่าลูกไม้สำคัญเข้าทุ่มทับนักมวยจากโคราช ลงไปสลบหน้าพระที่นั่งพระพุทธเจ้าหลวง

"ท่าเสือลากหาง" ท่านี้เป็นการเข้าสะกดข่มขวัญ ปรปักษ์ ด้วยอาการอย่างเสือหมอบค่อย ๆ เข้าหาเหยื่อ อย่างระมัดระวัง พร้อมยกมือขึ้นป้องหน้าแสดงอาการสำรวจคู่ต่อสู้ตลอดทั้งตัว

         ดังนั้นสมบัติของชาติชิ้นนี้จึงควรค่าแก่การอนุรักษ์ ส่งเสริม สานต่อให้เป็นรูปธรรม เนื่องจากเป็นวิชาหลวง เป็นของเจ้านายชั้นสูง ไม่ใช่วิชาการต่อสู้ที่ชกกันเพื่อการเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียว ยังหมายถึงปกป้องแผ่นดินเกิด ตลอดจนการอารักขาเบื้องพระยุคลบาทอีกด้วย

         วิชามวยไทยนั้น เป็นศิลปะการต่อสู้ชั้นสูงของไทย ซึ่งมิได้มีไว้เพื่อแสดงความสวยงามทางศิลปวัฒนธรรม หรือเป็นการต่อสู้กันบนเวทีเท่านั้น แต่เป็นศิลปะการต่อสู้ ที่มีการสืบทอดกันมาอย่างยาวนาน จะเห็นได้จากประวัติศาสตร์นักรบคนสำคัญของไทย ซึ่งล้วนแล้วแต่ต้องร่ำเรียนวิชามวยไทย ก่อนที่จะมาถือดาบสู้รบกับศตรูที่มารุกรานประเทศ เพราะฉะนั้นวิชามวยไทยจึงหมายถึงความปลอดภัยในชีวิต คือผู้ที่นำไปใช้จะต้องได้รับความปลอดภัย สิ่งที่เป็นเครื่องพิสูจน์ได้อย่างดีคือเอกราชของประเทศไทยที่เราได้อาศัย อยู่ตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษมาตราบเท่าทุกวันนี้ ฉะนั้นการสืบทอดและการถ่ายทอดวิชาจึงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวัง หากมีข้อบกพร่องแม้แต่เพียงน้อยนิด ย่อมหมายถึงอันตรายต่อชีวิตของผู้ที่นำไปใช้ แต่การที่จะได้มีวิชาดีไว้ปกป้องตนเองไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องแลกมาด้วยความอดทน


ศาสตร์เเห่งมวยไชยา
        มวยไทยไชยา เป็นมวยที่มีลีลางดงามแต่แฝงไปด้วยอวัยวุธที่เฉียบคมรวดเร็ว แตกต่างจากมวยไทยในปัจจุบันนี้อย่างมากมาย นอกจากลีลาที่งดงามแล้ว มวยไทยไชยายังประกอบด้วยวิชาการต่อสู้ที่สามารถกระทำได้แม้ว่าในขณะพลาดล้ม ลง (การต่อสู้บนพื้น) จากการต่อสู้ ซึ่งในวิชาพาหุยุทธ์มวยไทยไชยานี้ไม่ได้มีแค่อวัยวุธ หมัด เท้า เข่า ศอกเท่านั้น แต่ยังจะมีวิชาที่ผสมผสานกับอวัยวุธอย่างกลมกลืนจากการ
                       จับ ล็อค หัก ด้วยวิชา ทุ่มทับจับหัก ล้มลุกคลุกคลาน  ประกบประกับจับรั้ง


 และอื่นๆอีกมากมายที่เราท่านทั้งหลายไม่ค่อยพบเห็นกันในปัจจุบันนี้






   ครูแปรงครูมวยไชยาในยุคปัจจุบัน

 อาจารย์อมรกฤต ประมวญ หรือ ครูแปรง ของเหล่าศิษย์มวยไทยทั้ง หลายคือผู้สืบทอดวิชา สานต่อเจตนารมย์จากบูรพาจารย์ที่สืบสายวิชามวยที่ถูกลืมไปตั้งแต่มีกาที่มวย คาดเชือกถูกระงับการแข่งขันให้เปลี่ยนไปใช้กติกาอิงสากล ลูกไม้กลมวย ต่างๆก็สูญหายไปมาก
        ครูแปรง เป็นศิษย์ติดตามใกล้ชิด ครูทอง เชื้อไชยา ผู้สืบทอดวิชามวยไทยไชยานี้มาจาก ปรมาจารย์เขตร ศรียาภัย(ปรมาจารย์คนสุดท้ายของวงการมวยไทย)ซึ่งได้เรียนวิชาจาก พระยาวจีสัตยรักษ์ เจ้าเมืองไชยาผู้เป็นพ่อ รวมทั้งได้เรียนวิชามวยโบราณจากครูอีก 13 ท่านจนแตกฉาน

ครูแปรง
 วิชามวยไทยไชยา 
         นอกจากมือเท้าเข่าศอกที่เห็นได้ทั่วไปในมวยไทยกระแสหลักแล้วยังมีวิชาที่ถูกลืมอย่างการ        " ทุ่ม ทับ จับ หัก"     ซึ่ง มีความร้ายกาจไม่แพ้วิชาการ ทุ่ม การล๊อคของศิลปะการต่อสู้อื่น หลักมวยอื่น ๆ ยังมีที่เป็นคำคล้องจองแต่มีความหมายลึกซึ้งทุกคำ อย่าง
                    "  ล่อ หลอก หลบ หลีก หลอกล่อ ล้อเล่น " หรือ " กอด รัด ฟัด เหวี่ยง " 


ซึ่งเป็นวิชาการกอดปล้ำแบบหนึ่งซึ่งหาไม่ได้แล้วในมวยไทยสมัยปัจจุบัน หรือแม้กระทั่ง

"  ล้ม ลุก คลุก คลาน "     
ซึ่งเป็นการฝึกม้วนตัว ล้มตัว

        มิติการต่อสู้ของมวยโบราณอย่างมวยไทยไชยานั้นจึงไม่จำกัดเฉพาะการยืนต่อสู้ เท่านั้น การต่อสู้เมื่อจำเป็นต้องล้มลงก็ทำได้ และด้วยพื้นฐานของมวยไทยโบราณที่ถูกสร้างให้ใช้ในการศึกสงคราม การต่อสู้กับศัตรูพร้อมกันหลายคนนั้นเป็นอีกมิติหนึ่งที่ทำให้มวยไทยไชยา เป็นมวยที่ร้ายกาจ
  การเรียนการสอนของมวยไทยไชยานั้นจะเป็นระเบียบระบบแบบโบราณ นักเรียนจะได้เรียนตั้งแต่พื้นฐานวิชา เรียนการป้องกันตัว "   ป้อง ปัด ปิด เปิด " จนสามารถป้องกันการโจมตีได้อย่างมั่นใจแล้ว ลูกไม้มวยไทยต่าง ๆ ก็จะค่อยได้เรียนรู้ แตกต่างจากมวยไทยกระแสหลักที่ฝึกฝนการโจมตี เตะ ต่อย ทำลาย โดยอาศัยความทนทานเข้ารับลูกเตะต่อยของคู่ต่อสู้ ดั่งที่ครูแห่งมวยไทยไชยานี้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ศิลปะการป้องกันตัวย่อมต้องป้องกันตัวได้จริง ไม่ใช้ศิลปะการแลกกันว่าใครจะทนกว่ากันก็จะเป็นผู้ชนะไป
        ด้วยภูมิปัญหาของครูมวยโบราณที่สั่งสม แก้ไข ปรับปรุงจนวิชามวยไทยดั้งเดิมนั้นร้ายกาจ ด้วยกลเม็ด ลูกไม้ ไม้เด็ด หลากหลาย กลมวยสามารถแตกขยายไปได้เหมือนจะไม่มีที่สิ้นสุด ในทางกลับกันนั้นการสั่งสอนวิชาอันร้ายกาจนี้ก็ฝึกฝนให้นักเรียนเป็นคนอดทน มุ่งมั่นใจเย็น สุขุม จนในท้ายที่สุดแล้ววิชามวยแห่งการต่อสู้นี้เป็นอุปกรณ์พัฒนานักเรียนให้เป็น คนดีของสังคม ที่มีสติ ควบคุมกายให้ประพฤติตนดี มีครูสอนสั่ง
        ครูแปรง ได้วางแผนการสอนวิชาอาวุธที่คู่กับมวยไทยไชยาที่ รู้จักกันในชื่อ วิชากระบี่กระบองซึ่งมีวิชา ดาบสองมือ มีดสั้น พลองยาว ไม้ศอก รวมถึงอาวุธไทยโบราณแบบอื่นๆที่ไม่น่าจะหาเรียนได้ที่ไหนง่ายๆ เพื่อให้ครบหลักสูตรวิชาการต่อสู้ป้องกันตัวของไทยโดยแท้


การแต่งกายของนักมวย


 นักมวยนุ่งกางเกงขาก๊วย ไม่ใส่เสื้อ ใช้ผ้ามวนพันหุ้มแทนกระจับเรียกโละโปะ หรือลูกโปก ไม่ใส่นวม แต่ใช้ด้ายดิบพันมือ สวมมงคลแม้ในขณะชก


การฝึกมวยไชยา


การเรียนการสอนของมวยไทยไชยานั้นจะเป็นระเบียบระบบแบบโบราณ นักเรียนจะได้เรียนตั้งแต่พื้นฐานวิชา เรียนการป้องกันตัว " ป้อง ปัด ปิด เปิด " จนสามารถป้องกันการโจมตีได้อย่างมั่นใจแล้ว ลูกไม้มวยไทยต่าง ๆ ก็จะค่อยได้เรียนรู้ แตกต่างจากมวยไทยกระแสหลักที่ฝึกฝนการโจมตี เตะ ต่อย ทำลาย โดยอาศัยความทนทานเข้ารับลูกเตะต่อยของคู่ต่อสู้ ดั่งที่ครูแห่งมวยไทยไชยานี้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ศิลปะการป้องกันตัวย่อมต้องป้องกันตัวได้จริง


การฝึกมวยไชยา 5 ขั้นตอน



1.พื้นฐานมวยไทยไชยาเบื้องต้น (Basic MUAYCHAIYA) หลักการมวยไชยา ท่าฝึกเบื้องต้น การจรดมวย


2.พื้นฐานการเคลื่อนไหว (Basic Movement) ท่าเคลื่อนไหวพื้นฐาน ย่างสามขุม บุก หลบหลีก ล่อหลอก


3. พื้นฐานการใช้อาวุธ (Basic Offence) การออกอาวุธ หมัด เท้า ศอก เข่า แขน แข้ง ขา


4. พื้นฐานการป้องกัน (Basic Defense) การป้องกันอาวุธ ป้อง ปัด ปิด เปิด


5. การป้องกันตัวในสถานการณ์ต่าง ๆ (Practical Situation Self Defense) การป้องกันตัวในสถานการณ์คับขัน การเอาตัวรอดจากการถูกล็อค หรือถูกประทุษร้ายในลักษณะต่าง ๆ

 การฝึกเดินพลิกเหลี่ยมสามขุมขั้นต้น
การฝึกหัดมวยไชยา ปีนป่าย

มวยท่าเสา

มวยท่าเสา



 มวยท่าเสาของอุตรดิตถ์ 
นับเป็นแม่ไม้มวยไทย ที่มีความโดนเด่นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว  โดยมีครูเมฆเป็นปรมาจารย์ซึ่งก็ได้ส่งเสริมให้อนุรักษ์ไว้ โดยคณะศิษย์มวยท่าเสาและมวยพระยาพิชัยดาบหัก 
 มวยท่าเสา เป็นแบบการต่อสู้ข้าศึกของพระยาพิชัยดาบหัก  การจดมวยท่าเสาจะกว้างและใช้น้ำหนักตัวไปด้านหลังเท้าหน้าจะสัมผัสพื้นเบาๆ   ทำให้ออกไม้มวยได้ไกล รวดเร็วและรุนแรงในการต่อสู้   หมัดหน้าจะไกลจากหน้าและสูงกว่าไหล่หมัดหลังจะต่ำ ผ่อยคลาย บริเวณขากรรไก

ปรัชญาและกลยุทธ์ของมวยพระยาพิชัยดาบหักที่ต้องพิชิตข้าศึกให้เร็วที่สุด  ด้วยการ
 เผด็จศึกอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ 
มวยพระยาพิชัยดาบหักเป็นทั้งมวยอ่อนและมวยแข็ง สามารถรุกหรือรับตามแต่สถานการณ์ รู้วิธีรับก่อนรุก เรียนแก้ก่อนผูก เรียนรู้จุดอ่อนจุดแข็งของตนเองและคู่ต่อสู้

ไม้มวยพระยาพิชัยดาบหักมีทั้งหมดไม่น้อยกว่า ๕๓๕ ไม้ด้วยกัน คือ  ไม้หมัด ไม่น้อยกว่า ๑๓๔ ไม้ ไม้ศอก ไม่น้อยกว่า ๑๔๐ ไม้ ไม้เข่าไม่น้อยกว่า ๖๒ ไม้ ไม้ถีบ ไม่น้อยกว่า ๕๙ ไม้ ไม้เตะ ไม้น้อยกว่า ๑๐๑ ไม้ ไม้หัว ไม่น้อยกว่า ๓๙ ไม้ (ใช้เฉพาะวงใน)
 
 

แม่ไม้มวยไทย ๑๕ ท่า

แม่ไม้มวยไทย ๑๕ ท่า






แม่ไม้มวยไทย ๑๕ ท่า
แม่ไม้มวยไทยที่สำคัญขนาดยอดเยี่ยม โบราณาจารย์ผู้ทรงคุณ ท่านได้จัดแบ่งไว้ ๑๕ ท่า คือ
 การใช้ หมัด ศอก เข่า เท้า มีทั้งรุก และรับ ในจังหวะสถานการณ์ต่าง ๆ กันตั้งเป็นชื่อกล ต่าง ๆ เพื่อการจดจำ
แม่ไม้มวยไทย ๑๕ ท่า
๑.สลับฟันปลา                                                     รับวงนอก
๒.ปักษาแหวกรัง                                                  รับวงใน
๓.ชวาซัดหอก                                                      ศอกวงนอก
๔.อิเหนาแทงกฤช                                                ศอกวงใน
๕.ยกเขาพระสุเมรุ                                                ต่อยตั้งหมัดต่ำก้มตัว ๔๕ องศา
๖.ตาเถรค้ำฟัก                                                      ต่อยคางหมัดสูงก้มตัว ๖๐ องศา
๗.มอญยันหลัก                                                    รับต่อยด้วยถีบ
๘.ปักลูกทอย                                                         รับเตะด้วยศอก
๙.จระเข้ฟาดหาง                                                   รับต่อยด้วยเตะ
๑๐.หักงวงไอยรา                                                  ถองโคนขา
๑๑.นาคาบิดหาง                                                   บิดขาจับตีเข่าที่น่อง
๑๒.วิรุณหกกลับ                                                   รับเตะด้วยถีบ
๑๓.ดับชวาลา                                                        ปัดหมัดต่อยตอบ
๑๔.ขุนยักษ์จับลิง                                                  รับ-เตะ-ต่อย-ถอง
๑๕.หักคอเอราวัณ                                                 โน้มคอตีเข่า
กลแม่ไม้มวยไทย
กล ๑ สลับฟันปลา (รับวงนอก)


แม่ไม้กล ๑ นี้ เป็นไม้หลักหรือไม้ครูเบื้องต้น ใช้รับและหลบหมัดตรงของคู่ปรปักษ์ที่ชกนำอย่างรุนแรง และหนักหน่วง หลบออกวงนอก นอกลำแขนของคู่ปรปักษ์ ทำให้หมัดตรงของผู้ชกเลยหน้าไป
ก. ฝ่ายรุกชกด้วยหมัดตรงซ้าย พร้อมกับตัวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า หมายชกบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ
ข. ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขวาหลบไปทางกึ่งขวา ๑ ก้าว พร้อมทั้งโน้มตัวเอนไปทางขวาประมาณ ๖๐ องศา น้ำหนักตัวอยู่บน เท้าขวา ขาขวางอเล็กน้อย ศีรษะและตัวหลบออกวงนอกของหมัดฝ่ายรุก ทันใดใช้มือขวาจับกำคว่ำที่แขนท่อนบน ของฝ่ายรุก มือซ้าย จับ กำ หงาย ที่ข้อมือของฝ่ายรุก (ท่าคล้ายจับหักแขน)
กล ๒ ปักษาแหวกรัง (รับวงใน)


ก. ฝ่ายรุกชกใบหน้าฝ่ายรับด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าสืบไปข้างหน้า เฉียงไปทางกึ่งซ้ายเล็กน้อยภายในแขนซ้ายของฝ่ายรุก ตัวเอนประมาณ ๖๐ องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าซ้าย ทันใดให้งอแขนทั้ง ๒ ขึ้น ปะทะแขนท่อนบนและท่อนล่างของฝ่ายรุกไว้โดยเร็ว หมัดของ ฝ่ายรับทั้งคู่ ชิดกัน (คล้ายท่าพนมมือ) ศอกกางประมาณ ๑ คืบ ศีรษะและใบหน้ากำบังอยู่ระหว่างแขนทั้งสอง ตาคอย ชำเลืองดูหมัดขวา ของฝ่ายรุก
กล ๓ ชวาซัดหอก (ศอกวงนอก)


ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดตรงซ้ายยังบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าเอนตัวไปทางกึ่งขวา ตัวเอนประมาณ ๓๐ องศา น้ำหนักตัวอยู่บนเท้าขวา ทันใดรีบงอแขนซ้าย ใช้ศอกกระแทก ชายโครงใต้แขนซ้ายของฝ่ายรุก
กล ๔ อิเหนาแทงกฤช (ศอกวงใน)


ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า ตัวเอียงไปทางซ้ายเล็กน้อยตัวเอนประมาณ ๖๐ องศา น้ำหนักตัวอยู่บน เท้าซ้าย งอศอกขวา ขนานกับพื้น ตีระดับชายโครงฝ่ายรุก ตอบด้วยแขนซ้าย
กล ๕ ยกเขาพระสุเมรุ (ต่อยตั้งหมัดต่ำก้มตัว ๔๕ องศา)


ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าขวาพร้อมกับย่อตัวต่ำเข้าหาฝ่ายรุก งอเข่าขวา ขาซ้ายตึง ย่อตัวต่ำเอนไปข้างหน้าประมาณ ๔๕ องศา น้ำหนักตัวอยู่บนขาขวา ทันใดนั้น ให้ยืดเท้าขวายกตัวเป็นแหนบ พร้อมกับพุ่งหมัดชกขวาเสยใต้คางของฝ่ายรุก หน้าเงยดูคาง ของฝ่ายรุก แขนซ้ายกำบังอยู่ตรงหน้าเสมอคาง
กล ๖ ตาเถรค้ำฟัก (ต่อยคางหมัดสูงก้มตัว ๖๐ องศา)


ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้าของฝ่ายรุก ทางกึ่งขวาของวงหมัดภายในของฝ่ายรุกที่ชกมา งอเข่าซ้าย เล็กน้อยใช้หมัดซ้าย ชกใต้คางของฝ่ายรุก แล้วใช้แขนยวาที่งอป้องหมัดซ้ายฝ่ายรุกที่ชกมาให้พ้นตัว
กล ๗ มอญยันหลัก (รับต่อยด้วยถีบ)


ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ ผลักตัวเอนไปทางขวา เอนตัวหนีฝ่ายรุกประมาณ ๔๕ องศา ยืนบนเท้าขวา แขนทั้ง ๒ งออยู่ตรงหน้า เหลียวดู ฝ่ายรุก ทันใดนั้น ยกเท้าซ้ายถีบที่ยอดอก หรือท้องน้อยของฝ่ายรุกให้กระเด็นห่างออกไป
กล ๘ ปักลูกทอย (รับเตะด้วยศอก)


ใช้รับการเตะกราดของคู่ต่อสู้ โดยใช้ศอกรับสลับกัน
ก. ฝ่ายรุก ยืนตรงหน้าพอได้ระยะเตะ ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ จากขวาไปซ้าย โน้มตัว เล็กน้อย งอแขนทั้ง ๓ ป้องกันตรงหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบผลักตัวไปทางซ้าย พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายฉากไปข้างหลัง ใช้แขนขวางอศอกขึ้นรับเท้าของฝ่ายรุกที่เตะมา แขนซ้ายงอป้องกันอยู่ตรงหน้าสูงกว่าแขนขวาเพื่อป้องกันพลาดถูกใบหน้า
กล ๙ จระเข้ฟาดหาง (รับต่อยด้วยเตะ)


แม่ไม้นี้ใช้ส้นเท้าฟาดไปทางด้านหลัง เมื่อคู่ต่อสู้พลาดแล้วถลันเสียหลัก จึง หมุนตัวเตะด้วยลูกเหวี่ยงส้นเท้า
ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าขวากระโดดไปทางกึ่งขวา ให้พ้นหมัดฝ่ายรุก แขนงอกำบังตรงหน้าแล้วใช้เท้าซ้าย เป็นหลักหมุนตัว เตะด้วยส้นเท้าขวาบริเวณท้องหรือคอ

กล ๑๐ หักงวงไอยรา (ถองโคนขา)


ก. ฝ่ายรุก ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังชายโครงของฝ่ายรับ งอแขนทั้ง ๒ บังอยู่ตรงหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าขวาเข้าหาฝ่ายรุกตรงหน้าเกือบประชิดตัว ข้างตัวไปทางซ้าย เข่าขวางอ เท้าซ้ายเหยียดตรง ทันใด เอามือซ้ายจับเท้าขวาของฝ่ายรุก ต้องพยายามยกขาฝ่ายรุกให้สูง กันฝ่ายรุกใช้ศอกถองศีรษะ
กล ๑๑ นาคาบิดหาง (บิดขาจับตีเข่าที่น่อง)


ก. ฝ่ายรุก ยกเท้าขวาเตะกราดไปยังบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ แขนทั้ง ๒ งออยู่ตรงหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบผลักตัวไปทางซ้าย ยืนบนเท้าซ้าย มือซ้ายจับส้นเท้าของฝ่ายรุก มือขวาจับที่ปลายเท้าบิดออกนอกตัว ทันใดนั้น รีบยกเข่าขวาตีที่น่องของฝ่ายรุก
กล ๑๒ วิรุณหกกลับ (รับเตะด้วยถีบ)


แม่ไม้นี้ ใช้รับการเตะโดยใช้ส้นเท้า กระแทกที่บริเวณโคนขา
ก. ฝ่ายรุก ยกเท้าซ้ายเตะกลาง ลำตัวบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ
ข.ฝ่ายรับ รีบยกเท้าซ้ายถีบไปที่ บริเวณโคนขาซ้ายของฝ่ายรุกพร้อมยกแขน ทั้งสองกันด้านหน้า การถีบนั้นต้องถีบให้เร็ว และแรงถึงขนาด ฝ่ายรุกหมุนกลับเสียหลัก


กล ๑๓ ดับชวาลา (ปิดหมัดต่อยตอบ)


แม่ไม้นี้ใช้แก้การชกด้วยหมัด ตรงโดยชกสวนที่ใบหน้า 
ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายไปยังบริเวณใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายไปข้างหน้า แขนขวาคุมบริเวณ ปลายคาง
ข. ฝ่ายรับ ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้ากึ่งขวาหลบอยู่นอกหมัดซ้ายของฝ่ายรุก เอี้ยวตัวไปทางขวา ปัดและกดแขนซ้าย ของฝ่ายรุกที่ชกมา ให้เอนไปทางซ้าย กดให้ต่ำลง ทันใดรีบใช้หมัดซ้ายต่อย บริเวณปากครึ่งจมูกครึ่ง หรือที่เบ้าตา ของฝ่ายรุก แล้วพุ่งตัวโดด ไปทางกึ่งขวา
กล ๑๔ ขุนยักษ์จับลิง (รับ - ต่อย - เตะ - ถอง)
ไม้นี้เป็นไม้สำคัญมาก ใช้แก้ลำคู่ต่อสู้ที่ไวในการต่อย เตะ ถอง ติดพันกัน การปฏิบัติ แบ่งออกเป็น ๓ ตอน
ตอนที่ ๑


ก. ฝ่ายรุก พุ่งหมัดซ้ายตรงไปยังใบหน้าของฝ่ายรับ พร้อมกับก้าวเท้าซ้ายสืบไปข้างหน้า
ข. ฝ่ายรับ รีบก้าวเท้าซ้ายสืบเท้าเข้าหาตัวฝ่ายรุกตรงหน้า แขนขวาปัดแขนซ้ายฝ่ายรุกให้พ้นจากตัว
ตอนที่ ๒


ก. ฝ่ายรุก ยกเท้าขวาเตะกราดบริเวณชายโครงของฝ่ายรับ
ข.ฝ่ายรับ รีบผลักตัว ถอยเท้าซ้ายไปข้างหลัง ราวกึ่งซ้ายย่อตัวใช้ศอกขวาถองที่ขาขวาท่อนบนของฝ่ายรุก
ตอนที่ ๓


ก. ฝ่ายรุก งอแขนขวาโน้มตัวถองชกศีรษะของฝ่ายรับ
ข. ฝ่ายรับ รีบยืดตัว งอแขน ให้แขนท่อนบนปะทะแขนท่อนล่างของฝ่ายรุก แล้วรีบผลักตัว ก้าวเท้าขวาไปทางหลัง ประมาณกึ่งขวา
กล ๑๕ หักคอเอราวัณ (โน้มคอตีเข่า)


ก. ฝ่ายรุก ชกด้วยหมัดซ้ายตรง พร้อมกับสืบเท้าซ้ายไปข้างหน้า หมัดขวาคุมอยู่บริเวณคาง
ข. ฝ่ายรับ ก้าวเท้าซ้ายสืบไปตรงหน้าฝ่ายรุกอย่างรวดเร็ว พร้อมกับยกแขนขวาสอดปัดแขนซ้ายของฝ่ายรุก แล้วโดด เข้าเหวี่ยงคอฝ่ายรุก โน้มลงมาโดยแรง แล้วตีด้วยเข่าบริเวณใบหน้า